Home
กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความฉลาดและมีอายุขัยยืนยาวกว่า 10 ปี ปัจจุบันกระต่ายมีหลายสายพันธุ์และหากต้องการเลี้ยงกระต่ายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องอาหารการกินของพวกเขาด้วย ซึ่งการให้อาหารกระต่ายที่ถูกต้องจะช่วยให้กระต่ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขภาพที่ดีขึ้นนั่นเอง
ในช่วงแรกเกิดกระต่ายมีความบอบบางมากและต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ปกติช่วงแรกเกิดของกระต่ายพวกเขาจะต้องถูกเลี้ยงด้วยน้ำนมของแม่ แต่หากแม่ของกระต่ายปฏิเสธลูก คุณอาจจะต้องปรึกษาสัตว์แพทย์เพื่อหาวิธีในการให้อาหารกระต่ายที่ถูกต้องเพื่อทำให้พวกเขามีชีวิตรอด
ส่วนใหญ่สัตวแพทย์จะแนะนำให้มีขวดนมขนาดเล็กสำหรับให้นมหรือหลอดฉีดยาเพื่อใช้สำหรับป้อนนมให้ลูกกระต่าย ซึ่งนมที่ให้จะอยู่ที่ 3 มิลลิลิตรในช่วงสัปดาห์แรก และควรให้นมวันละ 3 ครั้ง จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณน้ำนมเป็น 15 มิลลิลิตรในช่วง 6 หรือ 7 สัปดาห์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 สามารถทิ้งหญ้าแห้งหรือหญ้าสดไว้ในรังเพียงเล็กน้อย เพื่อให้กระต่ายได้ทดลองกิน
สิ่งสำคัญในการดูแลกระต่ายช่วงแรกเกิด คือ ชั่งน้ำหนักของกระต่ายอยู่เสมอ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือไม่ และอย่าบังคับให้กระต่ายกินอาหารเพราะอาจเกิดการสำลักจนเกิดภาวะปอดอักเสบได้ หมั่นสังเกตอุจจาระและการขับถ่ายของกระต่าย หากพบความผิดปกติให้ปรึกษาสัตว์แพทย์ทันที สำคัญที่สุดคือ ปล่อยให้กระต่ายได้มีการพักผ่อนเป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยไม่กระตุ้นพวกเขาให้ทำสิ่งใด ๆ
ในช่วง 8 สัปดาห์ กระต่ายจะเริ่มหย่านม แต่กระต่ายแต่ละตัวจะมีจังหวะการกินอาหารไม่เหมือนกัน บางตัวอาจเริ่มกินอาหารแข็งก่อน 8 สัปดาห์ ดังนั้น จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติและพยายามส่งเสริมให้กระต่ายได้ทดลองอาหารใหม่ ๆ โดยใส่ไว้ในรังหรือกรงของพวกเขา
เมื่อกระต่ายหย่านมจนอายุเข้าสู่ 6 เดือน ควรมีหญ้าแห้งและไม่จำกัดพื้นที่ในการเลี้ยงที่แคบจนเกินไป หญ้าแห้งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรให้อาหารกระต่ายแบบเม็ดที่มีส่วนประกอบของเส้นใย 18% ร่วมด้วย และมีน้ำสะอาดแก่กระต่ายด้วย
เมื่อกระต่ายอายุครบ 6 หรือ 7 เดือน จะถือว่าเป็นกระต่ายที่โตเต็มวัยแล้ว มาถึงจุดนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนอาหารกระต่าย โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ให้หญ้าแห้งคุณภาพดี สมุนไพรบางชนิด เป็นต้น
เมื่อกระต่ายอายุ 6 ขวบ แสดงว่าพวกเขากำลังเข้าสู่วัยชรา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องให้เวลากับพวกเขามากขึ้น สนใจกับพฤติกรรม นิสัยและอุจจาระมากขึ้น เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กระต่ายที่อายุมากแล้วจะรับประทานอาหารแบบเดียวกับกระต่ายโตเต็มวัย แต่จะต้องเพิ่มอาหารเม็ด เพื่อรักษาน้ำหนักของกระต่ายด้วย หากสังเกตว่าน้ำหนักของกระต่ายลดลงให้ปรึกษาสัตวแพทย์
นอกจากวิธีการดูแลเรื่องอาหารกระต่ายข้างต้นแล้ว สิ่งที่ควรรู้เมื่อต้องเลี้ยงกระต่าย คือ อาหารที่เป็นพิษกับพวกเขา ได้แก่ ผลไม้แห้ง ผลไม้ในน้ำเชื่อม น้ำตาล เกลือ มันฝรั่ง หัวหอม กระเทียม อาโวคาโด ช็อคโกแลต เป็นต้น และยังมีพืชหรืออาหารบางชนิดที่เป็นโทษต่อร่างกายของกระต่าย ได้แก่ ใบชา กล้วยไม้ กระบองเพชร เฟิร์น ว่านหางจระเข้ กัญชา ปลาซาร์ดีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จำไว้เสมอว่ากระต่ายเป็นสัตว์กินพืช เพราะฉะนั้นไม่ควรให้อาหารที่มนุษย์กินแก่กระต่าย เพราะอาจเป็นโทษต่อสุขภาพของกระต่ายได้